สมาชิกเข้าสู่ระบบ
สถิติสารสนเทศ
วัด
พระอารามหลวง ชั้นเอก ราชวรมหาวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นเอก ราชวรวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นเอก วรมหาวิหาร
1 วัด
พระอารามหลวง ชั้นโท ราชวรมหาวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นโท ราชวรวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นโท วรมหาวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นโท วรวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นตรี ราชวรวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นตรี วรวิหาร
0 วัด
พระอารามหลวง ชั้นตรี สามัญ
10 วัด
วัดราษฎร์
5385 วัด
สำนักสงฆ์
70 วัด
ที่พักสงฆ์
364 วัด
วัดร้าง
4 วัด
วัดทั้งหมด
5834 วัด
 
ศาสนบุคคลไทย
พระภิกษุ
8967 รูป
สามเณร
800 รูป
แม่ชี
31 รูป
ศิษย์วัด
8 คน
บุคคลทั่วไปชาย
4 คน
บุคคลทั่วไปหญิง
0 คน
ทั้งหมด
9810 รูป/คน
 
ศาสนบุคคลต่างชาติ
พระภิกษุ
42 รูป
สามเณร
3 รูป
แม่ชี
0 รูป
ศิษย์วัด
0 คน
บุคคลทั่วไปชาย
0 คน
บุคคลทั่วไปหญิง
0 คน
ทั้งหมด
45 รูป/คน
 
สถิติสถานภาพพระภิกษุปัจจุบัน
พระบวชใหม่
7493 รูป
ลาสิกขา
29 รูป
มรณภาพ
10 รูป
 

สาระธรรม

อยากเป็นเปรตให้เป็นทายก อยากตกนรกให้เป็นสมภาร

รายละเอียด

คำโบราณที่น่าคิด ชยสุวณฺโณ ภิกฺขุ รจนา
อยากเป็นเปรตให้เป็นทายก
อยากตกนรกให้เป็นสมภาร
ทำอย่างไร...จะได้ไปสวรรค์นิพพานกับเขาบ้าง
โปรดอ่านให้จบทั้งพระที่เป็นสมภารและทายกเถิด
เมื่อข้าพเจ้าเป็นสามเณรจำต้องจากที่เคยคุ้นเคยคือบ้านเกิดเมืองนอนไปต่างถิ่นด้วยที่ยังเด็กมิเคยออกไปไหนไกลก็คงเป็นเรื่องธรรมดาที่บางคราก็ว้าเหว่มีสุขมีเศร้าคิดถึงบ้านแลผู้ที่คุ้นเคยเป็นของธรรมดา ในตอนนั้นข้าพเจ้าอายุประมาณ ๑๓ ปี ไปศึกษาภาษาบาลีอยู่ที่วัดคลองโพธิ์ อุตรดิตถ์ รุ่นพี่ที่พาไปฝากก็เข้ากรุงเทพผู้คุ้นเคยจึงไม่มีเท่าใดนัก สมัยนั้นวัดคลองโพธิ์มีชื่อเสียงในเรื่องบาลีรุ่นพี่ที่เรียนจึงนำไปฝากที่นี่ จำได้ขึ้นใจตลอด หลังจากทำวัตรเช้าเสร็จ หลวงพ่อเจ้าอาวาส พระธรรมวีรานุวัตร พื้นเพท่านเป็นคนสุรินทร์ แต่ด้วยใจที่รักบาลีท่านจึงตั้งสำนักเรียนบาลี ประมาณตี ๕ กว่า หลังจากทำวัตรเช้าเสร็จ ท่านก็จะเปิดเพลงสุนทราภรณ์ ก่อนการบรรยายธรรมะออกหอกระจายข่าวของทางวัดอันเป็นกุสโลบายที่แยบยลให้พระหนุ่มเณรน้อยได้ลุกตื่นทำกิจส่วนตัวเพื่อรอบิณฑบาต แม้ผ่านไปหลายปี เพลงสุนทราภรณ์ ที่ก้องหูข้าพเจ้าก็คือ เพลงวิวาห์น้ำตา ของ สมยศ ทัศนพันธ์ ความท่อนหนึ่งว่า หยดหนึ่งน้ำสังข์ที่ไหลหลั่งมา มันเคล้าด้วยน้ำตา ของข้าที่ไหลร่วงริน......และเพลงชายไร้โบสถ์ พอเพลงจบท่านก็จะบรรยายธรรมะให้ญาติโยมพระเณรฟังอยู่ทุกวันแทบมิเคยขาดเลยเว้นมีเหตุจำเป็น จึงถือว่าเป็นพระมหาเถระที่อดทนรักษากิจนี้อยู่มิใช่น้อย ท่านจึงมักเอาคำโบราณที่คนพูดมาอธิบายขยายความให้ฟังอยู่เสมอ ที่ข้าพเจ้าคุ้นหูตอนนั้นก็คือ อยากเป็นเปรตให้เป็นทายก อยากตกนรกให้เป็นสมภาร สมัยนั้นตนเองก็เป็นเณรน้อยและมิได้คิดว่าจะมาเป็นสมภารเช่นทุกวัน จึงมิได้ใส่ใจอะไรมากนัก (ฟังแบบที่ว่าให้ผ่านไปหูซ้ายทะลุหูขวาไป) พอมาวันหนึ่งเมื่อได้รับภาระมาเป็นสมภารเต็มตัว จึงพอที่จะทราบคำคนโบราณบ้างแม้ไม่ละเอียดเฉกเช่นปราชญ์เมธีชนทั้งหลาย
ฉะนั้นเราต้องแยกประเด็นให้ชัดว่า
อยากเป็นเปรตให้เป็นทายก
อยากตกนรกให้เป็นสมภาร
คนโบราณสื่อถึงอะไร
และถ้าเป็นแบบนั้นจริง คงไม่มีใครอยากเป็นทายกและเป็นสมภารกระมังเพราะคนโบราณเอานรกและเปรตมาขู่ล่วงหน้า
ข้าพเจ้าจึงขออธิบายตามความรู้อันน้อยนิดของข้าพเจ้าไว้ดังนี้
การสร้างวัดนี้จะเกี่ยวเนื่องด้วยบุคคล ๒ จำพวก คือ ทายกและพระ
ฝ่ายพระก็มี ๒ จำพวก คือ เจ้าอาวาสและลูกวัด เราท่านทั้งหลายเคยสงสัยกันไหมว่าปัจจุบันวัด ๓๐,๐๐๐ กว่าวัด พระสงฆ์สามเณรประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ กว่ารูป
ใน ๓๐,๐๐๐ กว่าวัด วัดร้างก็เยอะ วัดที่กำลังร้างก็เยอะ วัดที่กำลังเจริญก็เยอะ วัดที่กำลังจัดสร้างก็มิใช่น้อย หรือปัจจุบันวัดใดพอออกพรรษามีพระหลวงตาดูแลวัดชาวบ้านก็อุ่นใจอยู่บ้าง ปัญหานี้แพร่หลายทางภาคอีสานและภาคเหนือ
เมื่อกล่าวในส่วนเจ้าอาวาส บางท่านอาจโชคดีที่มีบูรพาจารย์รุ่นก่อนสร้างเสนาสนะไว้พอสมควรเมื่อมารับช่วงต่อคงมิต้องมากังวลเรื่องการก่อสร้างมากนัก ส่วนบางวัดกำลังก่อสร้างนี่น่าคิด เจ้าอาวาสบางท่านเกรงญาติโยมเพ่งเล็งว่าไม่ทำหน้าที่ก่อสร้างก็เลยสนองกิเลสของญาติโยมวันๆก็คิดแต่เรื่องหาเงินทองมาเพื่อสร้างเสนาสนะในวัด สรุปง่ายๆ เพื่อเอาใจโยมให้โยมสรรเสริญนั่นเอง เมื่อหลงประเด็นนี้แล้วนี่แหล่ะที่ โบราณว่าตกนรก ในใจคิดแต่เรื่องอิฐหินปูนทราย มาสุมหัว นี่ยังไม่นับกับกิจการคณะสงฆ์ยุคปัจจุบันทั้งประชุมหรือเรื่องอื่นๆ จิปาถะ จนบางท่านเมื่อสะสมมากเข้าจึงลืมไปว่า อะไรคือหน้าที่หลักหน้าที่รองของพรหมจรรย์
อันนี้ได้พูดบางส่วนในปัญหาเรื่องการก่อสร้างซึ่งเป็นเสี้ยวของปัญหาแค่นั้นยังมินับปลีกย่อยของปัญหา
ทั้งนี้ยังมิได้กล่าวถึงปัญหาในการปกครองและเรื่องที่เนื่องด้วยพระธรรมวินัยประกอบด้วย
-การครองตนในพระธรรมวินัย
-การดูแลเสนาสนะของสงฆ์
-การแนะนำชาวบ้านและบุคคลทั่วไป
-การดูแลพระสงฆ์สามเณรที่อยู่ในความปกครอง
-การปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง
-การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สงฆ์
-การรักษาประเพณีที่คนพื้นที่ได้ปฏิบัติกันมา ซึ่งบางอย่างเมื่อเอาหลักพระธรรมวินัยเข้าจับอาจจะไปคนละเรื่อง
๗ ประเด็นแห่งการปกครองดังกล่าว ถ้ามองด้านเสียก็คงทำให้สมภารทั้งหลายปวดหัวมิใช่น้อย
แต่เมื่อมองในด้านดี ก็เป็นการฝึกจิตใจตัวเองโดยไม่ต้องไปอยู่ป่าเขาลำเนาไพรเพราะจะมีอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนามาทดสอบสติปัญญาอยู่เสมอเมื่อผ่านบททดสอบได้บ่งบอกถึงปัญญาและบารมีของแต่ละท่านนั่นเอง
บางท่านทนต่อปัญหาไม่ไหวหนักหน่อยสึกหาลาเพศหรือย้ายออกรองลงมาวิธีที่ใช้กันมากยุคปัจจุบันคือการบ่นเพ้อออกทางเฟสบุ๊คส่วนตัว (ในโลกิยวิสัยถือว่าพอได้ระบายไถ่ถอนอารมณ์ที่กลัดกลุ้มลงได้บ้าง) ส่วนในการแก้ปัญหาที่แท้จริงวิธีบ่นเพ้อคงไม่ใช่ทางออกของปัญหา เพราะใครๆก็มีปัญหาทั้งนั้นแต่ความถึงพร้อมในการจัดการปัญหาต่างกัน เปรียบเสมือนบางคนโดนมดกัดอาจร้องไปให้ได้ยินไปทั่วถึง ๗ บ้านที่อยู่รายรอบ แต่ขณะบางคนโดนรถชนเลือดออกเต็มตัวอาจมิได้ยินเสียงร้องออกมาสักแอะเลยก็เป็นได้
ประการต่อมาจะกล่าวถึง
หน้าที่หลักของพรหมจรรย์แบบง่ายๆ พื้นฐานเลย ก็คือการบิณฑบาตไหว้พระสวดมนต์ศึกษาพระธรรมวินัย หรือบางท่านมีบุญเก่าหนุนนำมากกว่านั้นเมื่อมองว่าการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้มันทุกข์ ก็บำเพ็ญตนเพื่อให้สิ้นชาติขาดภพจบพรหมจรรย์ในชาตินี้อันเป็นหัวใจของการบวช การไหว้พระสวดมนต์อย่างน้อยเพื่อรักษาใจการบิณฑบาตก็เพื่อเลี้ยงชีพในชีวิตพรหมจรรย์อันเป็นสิ่งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบำเพ็ญมาตลอดพระชนม์ชีพ
หน้าที่รอง ก็คือการก่อสร้าง หรืออื่นๆ หากเจ้าอาวาสท่านใดแยกประเด็นนี้ถูกไม่ไหลอารมณ์ไปตามเสียงสรรเสริญเยินยอและนินทาของชาวบ้านชีวิตพรหมจรรย์ของท่านก็จะสบายมีอย่างไรก็สร้างไปตามเหตุปัจจัย ใจไม่ไหลไปสู่ความทุกข์เรื่องหนี้สินการก่อสร้างเรื่องหาเงินก่อสร้าง อันเป็นเหตุไปสู่นรกได้
ส่วนท่านใดใช้ความเป็นสมภารอันมีพ.ร.บ. สงฆ์ให้การรับรองให้เกิดประโยชน์ และตัวท่านเองมีความมั่นคงในพระธรรมวินัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราจะเห็นได้ว่าท่านเหล่านี้สร้างประโยชน์ได้แพร่หลายต่อโลกอย่างมหาศาลประมาณเป็นตัวเงินมิได้เลย เพราะสิ่งที่ท่านเหล่านี้มีมากกว่าชาวโลกก็คือ ศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาส่วนชาวโลกต้องมีรางวัลเป็นของตอบแทนจึงจักทำ ทำได้แบบนี้ท่านก็ย่อมมีสวรรค์แลนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
ที่กล่าวมาคือในส่วนของการเป็นสมภารบางส่วนเท่านั้นหากลงลึกปัญหาไปมากกว่านี้ (ก็อาจจะเป็นเหมือนศาลาคนเศร้าที่หลายท่านเคยอ่านก็เป็นได้.... เพราะบางท่านมีปัญหากลืนไม่ได้คายไม่ออกทั้งนี้มิใช่ว่าท่านไม่อยากแก้ปัญหาแต่เพราะสติปัญญาและบุญที่สะสมมาต่างกันนั่นเอง)
อยากเป็นเปรตให้เป็นทายก
อันการสร้างวัดนี้นอกจากจะเกี่ยวเนื่องกับพระสงฆ์ในฐานหน้ากองหน้าแล้ว กองหน้าแม้จะมีแม่ทัพที่รบทัพจับศึกเก่งมีความอดทนสติปัญญาสามารถเพียงใด หากขาดกองหนุนคอยส่งเสบียงให้กับกองหน้าแล้ว อย่างเก่งก็คงรบไม่ถึงเจ็ดวันคงแพ้ให้แก่ข้าศึกอย่างราบคาบ
กองหนุนในที่นี้จึงเปรียบเสมือนทายก
ทายกแปลตามศัพท์ แปลว่าผู้ให้
แต่ในความเข้าใจชาวบ้านเรา ก็คือผู้สูงอายุที่มีความรอบรู้และมีศรัทธาเสียสละช่วยเหลืองานศาสนาใกล้ชิดพระสงฆ์แบ่งเบาภาระพระสงฆ์ในส่วนที่ท่านไม่สะดวกทำอันเนื่องด้วยพระวินัย พูดง่ายๆ ต้องเป็นผู้มีศีลมีธรรมที่ดีกว่าชาวบ้านทั่วไป ทายกลักษณะนี้โดยมากจึงเป็นที่เคารพของชาววัด และพระเณรในวัด
เมื่อกล่าวถึงคำโบราณว่า อยากเป็นเปรตให้เป็นทายก ทำอย่างไรจึงเป็นเปรต
ข้าพเจ้าได้มาอยู่ชนบทนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ได้ฟังปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างชาวบ้านกับวัดก็เยอะ แต่นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดาในหลักโลกธรรม คงไม่มีวัดใดในโลกที่จะมีการปกครองโดยไม่ผ่านมรสุมอันใดมาเลย
ในส่วนของทายกที่มีความใกล้ชิดพระสงฆ์หากวัดใดมีเจ้าอาวาสครองตนในพระธรรมวินัยเข้าใจพระธรรมวินัยโดยถ่องแท้เป็นที่พึ่งแก่กุลบุตรผู้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้วกับทั้งมีทายกที่คอยอำนวยความสะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรมแลกิจศาสนาแล้วถือว่าวัดนั้นคงโชคดีที่สุด
บางวัดเจ้าอาวาสอายุยังน้อยหรืออายุมากแต่พรรษาน้อยไม่มีความรู้ด้านศาสนา ทายกบางท่านก็แก่วัด คืออยู่มาก่อนไม่รู้กี่รุ่น เมื่อมีเจ้าอาวาสใหม่ ตัวเองอยู่มาก่อนอาจมีความเป็นห่วงวัดในการบริหารของเจ้าอาวาสรูปใหม่ หากเจ้าอาวาสรูปใหม่ไม่มั่นคงในความถูกต้อง หากได้ทายกที่มีใจไม่บริสุทธ์มาช่วยดูแลวัด พออยู่นานๆ หากไม่เข้าใจพระธรรมวินัยในส่วนของพระแล้ว อาจนำความคิดของตัวเองแบบทางโลกิยวิสัยให้พระทำตาม เมื่อพระไม่ทำตามก็อาจไม่พอใจว่าหัวแข็ง ทั้งที่จริงต้องพิจารณาถึงหลักของพระด้วย สุดท้ายหากพระตามใจบ่อยเข้า (และพระบางรูปอาจปล่อยให้ดูแลตามยถากรรมไปเพราะตัวเองก็ไม่คิดใส่ใจบริหารวัดอยู่แล้ว เอาตัวเองให้สบายรอดไปวันๆ) นี่ในส่วนของฝ่ายชาย
ในส่วนของฝ่ายหญิง ข้าพเจ้าสังเกตหลายวัดที่มีทายิกา ผู้หญิงมีฐานะมีศรัทธาบ้างในศาสนามาช่วยกิจการวัด ใหม่ๆ ดูเหมือนมีศรัทธาพอคนเข้ามาทำบุญที่วัดและเจ้าอาวาสเห็นศรัทธาก็มอบหมายภาระงานให้ทำ หากได้ผู้เป็นสัมมาทิฏฐิก็เป็นการดี แต่โดยมากที่ทราบมาไม่เว้นแม้วัดป่าวัดบ้าน หากพระสงฆ์ปล่อยปละละเลยให้ดูแลกิจการวัดมากๆ เข้าจึงมักแยกแยะไม่ออกว่าในส่วนของตัวเองเป็นผู้อุปถัมภ์นี้คอยช่วยได้มากน้อยเพียงใด
(เพราะในใจก็คิดเสมอว่า อันนั่นก็ของกูสร้าง อันนี้ก็ของกู กูอยู่มาหลายปี มาที่หลังจะรู้อะไร) ก็เลยคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าอาวาสอีกคนสั่งคนให้ทำงานวัดโดยไม่ไตร่ตรอง
ทำไปทำมาก็เลยกลายเป็นคำโบรารณที่พูดสัพยอกกันว่า
เจ้าอาวาสอยู่บ้าน สมภารอยู่วัด
เหตุนี้เองที่โบราณว่า อยากเป็นเปรตให้เป็นทายก
นี่ยังไม่กล่าวถึงในการบริหารที่เกี่ยวกับเงินทองของวัดที่หลายวัดมีปัญหา
ในด้านกลับกันการได้เป็นทายก-ทายิกา นับว่าบุคคลนั้นได้สร้างบุญปูทางไว้ในภพหน้าให้ดีกว่าเดิม คือสร้างทางสวรรค์ไว้เพื่อตน หากเราพิจารณาปฏิปทาแนวทางของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีก็ดี พระนางวิสาขาก็ดี เพราะท่านทั้งสองนี้เป็นทายก-ทายิกาที่ดี ช่วยบำรุงกิจการพระศาสนา เมื่อมีเรื่องราวกับพระสงฆ์ที่คิดว่าทำแล้วเสียหายก็ทราบว่าควรช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งอาจต่างจากสมัยนี้ เท่าที่สังเกตุดูชาวบ้านเวลายามที่พระสงฆ์มีปัญหาโดยมากพากันทับถมเหยียบย่ำ โดยลืมไปว่าตัวเองได้สร้างวิบากกรรมไว้พอควร เพราะตัวเองก็ไม่เข้าใจพระธรรมวินัยดีพอ บางท่านยุคปัจจุบันก็นั่งในห้องแอร์พิพากย์วิจารณ์เรื่องของพระสงฆ์ให้ลูกศิษย์ฟัง เวลาพูดดูเหมือนรักพระศาสนา แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็คงยังทำไม่ได้เศษธุลีของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและพระนางวิสาขา เพราะในอดีตก็ไม่เคยเห็นท่านทั้งสองนี้ยืนชี้หน้าด่าพระสงฆ์องค์เจ้า ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าพระสงฆ์ผิดถูกอย่างไรให้ท่านทั้งหลายปิดหูปิดตา แต่ควรหาวิธีที่เขาเรียกว่าทำอย่างไรบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น สมดังภาษิตโบราณที่ท่านทั้งหลายคุ้นหูกันว่า
วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย
บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย
บ้านกับวัดผลัดกันช่วยยิ่งอวยชัย
หากขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง
เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

ผู้แต่ง
พระมหาทองดี ชยสุวณฺโณ

โดย : วัดบ้านหนองคู

ที่อยู่ : ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ

จำนวนเข้าดู : 80

ปรับปรุงล่าสุด : 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 12:22:09

ข้อมูลเมื่อ : 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565 21:47:46

 
 
 
 

สาระธรรม 10 อันดับ

กรณีพระภิกษุฆ่าตัวตาย

โดย วัดโพธิ์ชัย

ข้อมูลเมื่อ : 05-09-2566

เปิดดู : 233

สาระธรรมคำคม

โดย วัดศรีสว่าง

ข้อมูลเมื่อ : 10-08-2565

เปิดดู : 232

ข้อคิด

โดย วัดสามัคคีธรรม

ข้อมูลเมื่อ : 15-07-2565

เปิดดู : 322

หนังสือสวดมนต์

โดย วัดโพธิ์ศิลา

ข้อมูลเมื่อ : 13-07-2565

เปิดดู : 209

ธรรมะก่อนนอน พระครูสิริสีลวัตร

โดย วัดอำนาจ

ข้อมูลเมื่อ : 13-07-2565

เปิดดู : 104

วันเข้าพรรษา

โดย บ้านแวด

ข้อมูลเมื่อ : 09-07-2565

เปิดดู : 117

วันอาสาฬหบูชา

โดย ทุ่งสว่าง

ข้อมูลเมื่อ : 04-07-2565

เปิดดู : 115